พงศกร รอดชมภู รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ม, พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรค, กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ รองหัวหน้าพรรค และนิรมาน สุไลมาน กรรมการบริหารพรรค รับหนังสือจากญาติ อับดุลเลาะ อีซอมูซอ เรียกร้องความยุติธรรม กรณีการเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะ หลังอยู่ในอาการโคม่า สมองบวมเพราะขาดออกซิเจนมาตั้งแต่วันที่ 21 ก.ค. โดยหมดสติระหว่างถูกคุมตัวที่ศูนย์ซักถาม หน่วยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 43 ค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี
พงศกรกล่าวว่า การใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้เป็นปัญหาต่อเนื่องหลายปี การมีกฎหมายให้อำนาจในการควบคุมไว้ โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการยุติธรรมเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่บางบางหน่วย หรือบางคน ใช้ความรู้สึกส่วนตัวกระทำการบางอย่างได้ กรณีของอับดุลเลาะ ก็ไม่แน่ใจว่าอย่างไร
ดังนั้น จำเป็นแสวงหาข้อมูล เราทราบว่าการมีกฎหมายพิเศษนั้นมีปัญหา ระหว่างที่ยังไม่มีการหามาตรการอื่น อยากให้ผู้เกี่ยวข้องได้อบรมเจ้าหน้าที่ว่า การดำเนินการใดๆ กับประชาชนนั้นให้มองว่าเป็นประชาชน ไม่ใช่ศัตรู ไม่ใช่คนอื่น การแสวงหาความจริงตรงไปตรงมา หากเกิดกรณีลุแก่อำนาจต้องมีหน่วยงานฝ่ายอื่นมาดูแลไม่ให้เกิด
การทำให้ประชาชนกลัว หวาดระแวง แค้น ทำให้กรณีความไม่สงบดำเนินต่อไป และอาจทำให้เกิดแนวร่วมมุมกลับได้ ทำให้กรณีความขัดแย้งไม่จบง่ายๆ ฝากเจ้าหน้าที่ดำเนินการ แสวงหาข้อเท็จจริงที่จะหาผู้กระทำผิด ถ้ามี หรือถ้าไม่ผิดก็ต้องรู้ข้อเท็จจริงทุกประการ
พรรณิการ์กล่าวว่า พรรคอนาคตใหม่ติดตามคดีนี้อย่างต่อเนื่อง ตนได้ไปเยี่ยมขณะขณะยังอยู่ระหว่างรักษาตัวที่โรงพยาบาล ซึ่งน่าสงสัยว่าเหตุใด ชายอายุ 35 ปี แข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว จึงเป็นลมล้มในห้องน้ำ ซึ่งสาเหตุของการเสียชีวิต โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ออกเเถลงการณ์ว่ามาจากสมองขาดออกซิเจน เเละขาดเลือด
จึงเป็นคำถามที่พรรคอนาคตใหม่จะหาคำตอบว่า จากการที่สามจังหวัดภาคใต้ใช้กฎหมายพิเศษในการปกครองนั้น ทั้งกฎอัยการศึก พ.ร.บ.ความมั่นคง นั้นละเมิดต่อสิทธิมนุษยชน เเละความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยอย่างไร
ทั้งนี้ หนังสือคำร้องที่ญาติส่งภาพมาให้ดู ซึ่งเป็นภาพที่ถ่ายไว้วันที่ 2 หลังออกจาค่ายทหาร พบร่องรอยเเละบาดเเผลบนร่างกายอับดุลเลาะ ที่บ่งบอกว่าเกิดขึ้นจากการซ้อมของทหารหรือไม่ ในการใช้อำนาจพิเศษในการปกครองอย่างไม่เป็นธรรม กระทำต่อพี่น้องประชาชน อย่างไร้ซึ่งความเป็นมนุษย์ ทั้งนี้ พรรคอนาคตใหม่ ขอเรียกร้องใน 4 ประเด็น คือ
- ต้องการให้กระทรวงกลาโหมและนายกรัฐมนตรี อธิบายอย่างมีน้ำหนัก อย่างมีความน่าเชื่อถือเพียงพอว่าว่า การที่อับดุลเลาออกจากค่ายโดยสภาพเช่นนั้นเป็นไปได้อย่างไร มีที่มาที่ไปอย่างไรบ้าง
- ต้องร่วมกันหาข้อเท็จจริงให้กระจ่างชัด โดยเฉพาะข้อมูลจากเวชระเบียนของโรงพยาบาล 3 โรงพยาบาล ที่ถูกส่งตัวไป ซึ่งมีความสำคัญต่อกรณีดังกล่าว ทั้งจาก รพ.ค่ายอิงคยุทธ, รพ.ปัตตานี และ รพ.สงขลานครินทร์ ซึ่งข้อมูลของ รพ.ค่ายอิงคยุทธซึ่งเป็นที่แรก รัฐต้องให้รัฐบาลให้รพ เปิดเผยข้อมูลอย่างถูกต้องเเละเป็นธรรม
- อับดุลเลาะไม่ใช่คนเเรกที่ออกจากค่ายทหารในสภาพเช่นนี้ มีข้อมูล รายงานการซ้อมทรมาน ในช่วง 10 ปี พบว่ามีผู้ถูกซ้อมทรมาน 54 ราย และ 100% เป็นชาวมุสลิมเชื้อสายมลายู และ 51% มีอายุ 29- 38 ปี อีก 39% มีอายุ 19- 28 ปี และ 57 % เป็นชาวปัตตานี ซึ่งสะท้อนว่า อับดุลเลาะ คือรูปแบบของคนที่มักถูกรัฐต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อการคือ ชาญฉกรรจ์ นับถืออิสลาม มีเชื้อสายมลายู และเป็นชาวปัตตานี และเหล่านี้คือผู้ที่เสี่ยงต่อการถูกทรมาน
- ปัจจัยที่ให้ประชาชนเสี่ยง คือการใช้กฎหมาย 3 ฉบับ คือ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก, พ.ร.บ.ความมั่นคง และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวได้โดยไม่ต้องมีการตั้งข้อกล่าวหา ทั้งนี้ ประเทศไทยลงนามและให้สัตยาบรรณ อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ตั้งแต่ 2530 แต่ขณะนี้ พ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมานและการบังคับบุคคลสูญหาย ก็ยังไม่สามารถคลอดออกจากสภาได้
ในฐานะ ส.ส. จะดำเนินการผลักดันอย่างเต็มที่ เพื่อให้พี่น้องประชาชน โดยเฉพาะในสามจังหวัดชายเเดนใต้ ได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นธรรมและปลอดภัย พร้อมขอเรียกร้องให้ฝ่ายค้านและรัฐบาลร่วมมือกัน